สังยุตตนิกาย
นิทานวรรค
กัสสปสังยุตต์
๒. อโนตตัปปิสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปและท่านพระสารีบุตรอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระมหากัสสป ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสป ดังนี้ว่า ท่านกัสสป ผมกล่าวดังนี้ว่า ผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ส่วนผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ผู้มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ดูกรผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ก็แลด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงจักได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ฯ
ท่านพระมหากัสสปกล่าวว่า อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เราจะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้นแก่เราจะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับจะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯ
สา. อาวุโส ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัวอย่างไร ฯ
ก. อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่าอกุศลธรรมที่ลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ฯ
สา. อาวุโส ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลสอย่างไร ฯ
ก. อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้นจะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียร เครื่องเผากิเลส โดยคิดว่าอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯ
สา. อาวุโส ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความสะดุ้งกลัวอย่างไร ฯ ก. อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามก ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพานควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๒