สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค
๒. โพชฌงคสังยุต
นิวรณวรรคที่ ๔
อาวรณานีวรณสูตร
นิวรณ์ ๕ เป็นอุปกิเลสของจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องห้าม เป็นอุปกิเลสของจิต ทำปัญญาให้ทราม ๕ อย่างนี้ ๕ อย่างเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามฉันทะเป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม เป็นอุปกิเลสของจิต ทำปัญญาให้ทราม พยาบาท … ถีนมิทธะ … อุทธัจจกุกกุจจะ … วิจิกิจฉา เป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม เป็นอุปกิเลสของจิต ทำปัญญาให้ทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ อย่างนี้แล เป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องห้าม เป็นอุปกิเลสของจิต ทำปัญญาให้ทราม.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุติ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือสติสัมโพชฌงค์ ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุติ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ นี้แล ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุติ.
จบ สูตรที่ ๗