สังยุตตนิกาย
มหาวารวรรค
๓. สติปัฏฐานสังยุต
สีลัฏฐิติวรรคที่ ๓
ฐิติสูตร
ว่าด้วยการตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม
นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ท่านพระภัททะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามพระอานนท์ว่า:
ดูกรท่านอานนท์ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว?
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถาม เหมาะๆ ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ดูกรท่านอานนท์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.
ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.
จบ สูตรที่ ๒